แนะนำโรงพยาบาล

เข้าสู่ระบบ

เว็บลิ้งค์ภายใน

Facebook

เมื่อกฎหมายใหม่คุกคาม !!!  ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะอยู่อย่างไร?

เขียนโดย เภสัชกรภูริทัต  ทองเพ็ชร

สืบเนื่องจากระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว   และมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น   ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของคุณภาพ  สินค้าหรือบริการ ตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอำนาจต่อรองในการเข้า ทำสัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ   ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ   นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น  กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง   อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง  ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจนบางครั้งนำไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภค ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ   สมควรให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค   เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว   ประหยัดและมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค   ขณะเดียวกัน   เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น    ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งประกาศบังคับใช้ พรบ.นี้ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑ ซึ่งใช้ดำเนินคดีแพ่งระหว่างผู้บริโภค  หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ   ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ   หลังจาก พรบ.นี้ประกาศใช้  ก็มีผู้บริโภคทดลองใช้ พรบ.นี้แล้วหลายคดี    รวมทั้งคดีการให้บริการโรงพยาบาลของรัฐด้วย    หลายคนตั้งคำถามว่า แล้ว พรบ.นี้มีผลกระทบอย่างไร ? ต่อผู้ให้บริการด้านสุขภาพ   นั่นคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับ พรบ.นี้ อย่างถี่ถ้วน

“ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย ซึ่งผู้บริโภคในที่นี้รวมถึงผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐด้วย

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจในที่นี้รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐด้วย

โรงพยาบาลของรัฐที่ต้องระวังก็เพราะว่า  มีสินค้าและบริการเหมือนธุรกิจอื่นทั่วไปนั่นเอง  สินค้าในโรงพยาบาลที่เด่นชัดก็ เช่น  ยาและเวชภัณฑ์  ทั้งหลาย    ส่วนคำว่า บริการ  ก็หมายรวมถึงการให้บริการตรวจรักษาโรครวมทั้งการทำหัตถการทุกอย่าง  จึงเป็นไปได้ว่า ถ้ามีผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล  ผู้เสียหายก็สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับโรงพยาบาลได้ด้วย  และความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้คือ ผู้เสียหายสามารถไปฟ้องที่ศาลได้โดยตรง  การฟ้องร้องไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้  สามารถให้การโดยวาจาได้เลย   ตามมาตรา ๒๐การฟ้องคดีผู้บริโภค โจทก์จะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้   ในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจา ให้เจ้าพนักงานคดีจัดให้มีการบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้ว ให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ  คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีรวมทั้งคำขอบังคับชัดเจนพอที่จะทำให้เข้าใจได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์ แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้

ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความสะดวกมากพอสมควรสำหรับผู้บริโภค เท่านั้นยังไม่พอ  ผู้เสียหายไม่ต้องจ้างทนายความและไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลอีกด้วย  ตามมาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีผู้บริโภคซึ่งดำเนินการโดยผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งหลายคนยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อ พรบ.นี้  แต่ พรบ.นี้มีสาระมากกว่าที่เราคิด   คือ ถ้ามีการให้ยาแล้วยานั้นสะสมในร่างกายจนส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหูหนวก  ตาบอด ไตวาย หรือ ทุพพลภาค ซึ่งมียาอยู่หลายตัวที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น Gentamycine ทำให้หูหนวก    ยา Amphotericin B   อาจทำไตวายเมื่อให้ในอัตราที่เร็วเกินกำหนด   หรือยาที่ทำให้ทารกพิการปากแหว่ง เพดานโหว่   แล้วถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงผู้ให้การรักษาจะมีความผิดหรือไม่  ? ตามมาตรา ๑๓ ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต  ร่างกาย  สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภคหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ  ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด  แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย

นั่นก็หมายความว่าอายุความสามารถอยู่ได้ถึง ๑0 ปี         ที่สำคัญ จำเลย(รพ.รัฐ)ต้องเป็นผู้หาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ถึงข้อเท็จจริงเพื่อให้พ้นความผิด    โดยที่โจทย์(ผู้เสีย)ไม่ต้องเสียเวลาหาหลักฐานดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาคดี  ตาม มาตรา ๒๙ ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต   การประกอบ  การออกแบบ  หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น

คำว่า ผลิต จาก มาตรา ๒๙    ข้างบนนั้น   ถ้าตีความหมายตาม   พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยฯ    คำว่า “ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม ปรุง แต่งประกอบ   ประดิษฐ์ แปรสภาพ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง คัดเลือก   แบ่งบรรจุ   แช่เยือกแข็ง   หรือ ฉายรังสี   รวมถึงการกระทำใดๆที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน(พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑)

ประเด็นนี้หลายคนคงพุ่งป้าไปที่  เภสัชกรที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อ พรบ.ฉบับนี้  เภสัชกรมีหน้าที่ ผสมยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย  เริ่มตั้งแต่ยาง่ายๆที่เภสัชกรต้องผสมให้คนไข้ก่อนกลับบ้านแหละดูเหมือนว่าจะต้องผสมกันแทบจะทุกวันก็อย่างเช่น  Amoxy   Syrup ที่ต้องผสมน้ำให้เด็ก หรือจะเป็นการผสม KCL Elixer   หรือการแบ่งยานับเม็ดใส่ซองให้ผู้ป่วยและแบ่งยาpre pack ด้วย  แต่วิเคราะห์ให้ครอบคลุมประเด็นนี้ ไม่ใช่แค่บทบาทเภสัชกรเท่านั้นที่มีความเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง  แต่รวมถึง การผสมยาฉีดหรือผสมยาในสารละลายด้วย นั่นก็หมายความว่า  อีกวิชาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยง ต่อ พรบ.นี้ด้วยนั่นก็คือ พยาบาล เพราะจะต้องผสมฉีดยาให้กับคนไข้อยู่บ่อยๆ  แม้กระทั่งฉายรังสี ก็ถือว่าเป็นการผลิต แพทย์ และเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ X-RAY ก็มีความเสี่ยง ต่อ พรบ.นี้ด้วยเช่นกัน   นี่คือความน่ากลัวของ พรบ.ฉบับนี้

หลังจาก พรบ.ฉบับนี้ออกมาได้ซักพัก  ภาคีวิชาชีพด้านสาธารณสุขในประเทศไทยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ)เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ประกอบด้วย  แพทยสภา  ทันตแพทยสภา  สภาการพยาบาล  สภากายภาพบำบัด  สภาเทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยสภา  นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความหมายของนิยาม คำว่าผลิต  ตามมาตรา ๔ แห่ง พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยฯ( สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  มิถุนายน  ๒๕๕๒) ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า  ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขไม่ต้องรับผิดตาม พรบ.นี้ในประเด็นการ  “ผลิตยา” แต่หากเกิดความเสียหายกับคนไข้ต้องรับผิดตามกฎหมายอื่นแทน นี่เป็นแค่ข้อคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น    แต่อำนาจการตัดสินก็ขึ้นอยู่กับศาล   ข้อคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะไม่มีผลในการตัดสินของศาลก็ได้ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  มิถุนายน  ๒๕๕๒)

ประเด็นที่กล่าวถึงการใช้กฎหมายอื่นในการดำเนินคดีกับผู้ให้บริการนั้น    ผู้เสียหายอาจจะฟ้องดำเนินคดีอาญา   ตามกฎหมายประมวลอาญามาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑0 ปี  และปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการรักษาทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสก็จะถูกดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา ๓00 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี  และปรับไม่เกิน ๖ พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทั้งสองมาตรานี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน  เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่สามารถยอมความตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย   แต่การผ่อนหนักให้เป็นเบาเห็นจะมีทางเดียวนั่นก็คือ การเยียวยาอย่างเร่งด่วนในกรณีเกิดความเสียหาย

หลายคนตั้งถามและมองย้อนกลับไปในอดีตว่า  ทำไมเมื่อก่อนการรักษาพยาบาลเต็มไปด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพระหว่างผู้ให้บริการกับคนไข้    ผู้ให้บริการกับคนไข้ต่างมีความสุข  ทั้งๆที่เครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาในขณะนั้นก็มีน้อย   สิ่งเหล่านั้นได้เลือนลางจางหายไป  นั่นคือสิ่งที่มีคุณค่า    และเพื่อสร้างสันติภาพในระบบสุขภาพ ลดการฟ้องร้อง  ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน   ผู้ให้บริการด้านสุขภาพต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศเหล่านั้น  เพราะสังคมมองว่า แพทย์ พยาบาล   เภสัชกร   มีอำนาจเหนือกว่าชาวบ้าน    อำนาจจากองค์ความรู้ที่ไม่เท่ากัน     สัญญะจากเครื่องแบบของบุคลากรสาธารณสุขเป็นอำนาจที่แฝงอยู่ในสังคม  และอำนาจจากสังคมมอบให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาดูแลรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย   ชาวบ้านต้องสวมบทบาทผู้ป่วยจึงจะมีสิทธ์มาขอรับบริการ    และต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ให้บริการ  เช่น   ถูกสั่งให้อ้าปาก   สั่งให้ยกแขน  ยกขา   หากคนไข้คิดจะอยากถามอะไร   ก็ต้องรอว่าหมอจะอนุญาตให้ถามหรือไม่   ซึ่งหลายครั้งทำให้คนไข้ไม่กล้าพูด  พอจะพูดก็จะถูกผู้ให้การรักษาบอกว่า “ ฟังหมอก่อน ”    ผู้ให้การรักษาจึงขาดข้อมูลบางอย่างที่สำคัญ  และมากกว่านั้น คือ ขาดมิตรภาพกับเพื่อนมนุษย์    สิ่งเดียวที่ผู้ให้การรักษาทำได้คือต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเคร่งครัด      ซึ่งจะช่วยลดการฟ้องร้องได้  และศาลเองก็มีความเที่ยงธรรมในการตัดสินอยู่แล้ว   ท่านคงไม่ฟังความข้างเดียวอย่างแน่นอน  !!!!!

เอกสารอ้างอิง

๑.พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

๒.บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความรับผิดของผู้ให้บริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  มิถุนายน  ๒๕๕๒

๓.พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                  direct06

แบบฟอร์มสำหรับเจ้าหน้าที่

เว็บลิ้งค์ระบบงานอื่นๆ

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

Today 111

Yesterday 118

Week 445

Month 3207

All 184331